ถอดความลับสินค้าของคนอื่นด้วย Reverse Engineering
วันนี้ผมเจอบทความนึงที่น่าสนใจเลยขอบันทึกเก็บไว้อ่านไม่ต้องไปค้นหาใหม่ ไปอ่านกันเลยดีกว่าครับ
หากพูดถึงการทำ R&D แล้ว มีอยู่หนึ่งเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ reverse engineering (วิศวกรมย้อนรอย หรือบางที่เรียกวิศวกรรมย้อนกลับ) แม้คำนี้จะฟังดูเป็นเรื่องทางเทคนิคมาก แต่อันที่จริงวิธีการนี้สามารถประยุกต์ใข้ในการออกแบบสิ่งประดิษฐ์ สินค้า บริการในธุรกิจได้ในทุกระดับเลยทีเดียว
ลองสมมติว่าเราต้องการสร้างนาฬิกาข้อมือเรือนหนึ่ง แต่ไม่มีไอเดียหรือความรู้เบื้องต้นเลยว่าจะทำนาฬิกาได้อย่างไร แค่เราไปซื้อนาฬิกาของคนอื่นมาเรือนหนึ่ง ถอดน็อต เปิดฝาเพื่อกลไกการทำงานด้านใน ดูว่าใช้วัสดุอะไรในการทำตัวเรือนและส่วนประกอบอื่นๆ ดูหน้าปัด ตรวจสอบว่าเข็มสั้น เข็มยาวทำงานอย่างไร ตัวสายเชื่อมกับตัวเรือนอย่างไร เมื่อเข้าใจกลไกการทำงานทั้งหมดแล้วเราจึงค่อยลงมือสร้างนาฬิกาข้อมือของตัวเองโดยอาศัยความเข้าใจระบบที่เราได้ศึกษาจากผลงานสำเร็จรูปของคนอื่น ง่ายๆ เท่านี้ก็เป็น reverse engineering แล้ว
Reverse Engineering คืออะไร
ขออธิบายคร่าวๆ ก่อนว่า ศาสตร์คู่ตรงกันข้ามของ reverse engineering คือ forward engineering (วิศวกรรมก้าวหน้า) ซึ่งเป็นการทำงานที่มีจุดเริ่มต้นจากทฤษฎีหรือหลักการที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ยังเป็นแค่เพียงไอเดียหรือความคิดเท่านั้น โดยการทำงานจะเริ่มต้นจากการสร้างข้อสมมติฐานขึ้นมาจากทฤษฎีหรือหลักการที่มีในใจ ลงมือวางแผนการทำงาน แล้วจึงค่อยลงมือทำงานตามแผนที่วางไว้จนได้ผลิตภัณฑ์ออกมาชิ้นหนึ่ง ส่วน reverse engineering นั้นจะเริ่มต้นจากการนำผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งมาถอดออกเป็นส่วนๆ เพื่อศึกษากระบวนการทำงานของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เพื่อที่จะเข้าใจกระบวนการผลิตอย่างมีแบบแผน เมื่อศึกษาจนเข้าใจแล้วจะทำให้เราสามารถผลิตสินค้าคล้ายกันหรือนำมาต่อยอดก็ได้เช่นกัน
Reverse Engineering สามารถทำได้กับทั้งสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่นระบบการทำงาน บริการ หรือสิ่งที่จับต้องได้ เช่น สินค้าต่างๆ วิธีทำ reverse engineering ด้วยการแยกอุปกรณ์ หรือถอดเป็นชิ้นๆ ส่วนใหญ่เป็นวิธีที่ทำแล้วได้ผลในการศึกษาหรือปรับปรุงสินค้าต้นแบบให้ดีกว่าเดิม
Reverse Engineering ดีอย่างไร
reverse engineering ถือเป็นการปูทางไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าเดิม เนื่องจากในกระบวนการการศึกษาสินค้าต้นแบบนอกจากเราจะศึกษาการทำงานของสินค้าชิ้นนั้นแล้ว ยังสามารถศึกษาได้ว่ากลไกการทำงานใดในสินค้าที่ใช้การไม่ได้หรือมีส่วนประกอบใดที่ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานรวมๆ ซึ่งเมื่อเราทราบจุดด้อยข้อเสียต่างๆ ก็จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้นและจะได้เพิ่มเติมสิ่งที่ได้ผลดีกว่าเข้าไปในผลิตภัณฑ์ของเรา นอกจากนั้นในกรณีที่สินค้ารุ่นแรกเริ่มของเราเริ่มล้าสมัยแล้วและจำเป็นต้องพัฒนาสินค้ารุ่นใหม่ๆ เพื่อเข้าสู่ตลาด แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังจำเป็นต้องรักษากลไกหรือส่วนประกอบหลักบางส่วนที่ขาดไม่ได้ ในกรณีนี้การศึกษาแนวทางจากรุ่นต้นแบบโดยใช้วิธีการ reverse engineering เพื่อรักษาวิธีการผลิตบางส่วนเอาไว้จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก
นอกจากนี้ วิศวกรรมย้อนรอยยังมีข้อดีในเรื่องการประหยัด ประการแรกคือการประหยัดเวลา เพราะเราไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก เพราะสิ่งที่นำมาเป็นต้นแบบก็ต้องการันตีความสำเร็จหรือประสิทธิผลของต้นแบบชิ้นนั้นอยู่แล้ว การทำตามต้นแบบจึงเป็นการประหยัดเวลาด้วยส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เป็นการประหยัดเงินด้วย เครื่องจักรบางเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพง หากเราสามารถศึกษากระบวนการทำงานของเครื่องเหล่านี้จนสามารถผลิตเองได้ นอกจากการทำงานจะมีประสิทธิภาพก็ยังช่วยลดส่วนต่างจากการนำเข้าได้อย่างมาก
Reverse Engineering ทำอย่างไร
สำหรับขั้นตอนของ reverse engineering ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลักๆ คือ
1. คัดเลือกผลิตภัณฑ์หรือองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ เพื่อเลือกผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาเป็นต้นแบบ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เราจะทำออกมาชิ้นหนึ่ง อาจประกอบไปด้วยต้นแบบหลายอย่างได้ เช่น สมมติเราอยากทำกระเป๋าขึ้นมาสักใบหนึ่งแต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ก็อาจไปซื้อกระเป๋าแบบคล้ายๆ กันมาสัก 2–3 ใบเพื่อมาเป็นต้นแบบในการศึกษา
2. ศึกษาผลิตภัณฑ์ วิธีนี้จะเป็นขั้นตอนที่กินเวลานานที่สุด เพราะนอกจากเราจะต้องแยกชิ้นส่วนออกมาอย่างละเอียดแล้ว ก็ยังต้องศึกษาองค์ประกอบแต่ละชิ้นว่ามีส่วนประกอบอะไร มีกลไกทำงานอย่างไรด้วย โดยในขั้นตอนนี้ เราจะนำกระเป๋าที่ซื้อมานั้นมาค่อยๆ ถอดออกเป็นส่วนๆ โดยอาจใช้มีดหรือกรรไกรเลาะตามตะเข็บทุกด้านออก แล้วแยกส่วนประกอบชิ้นต่างๆ ออกมา โดยในระหว่างนั้นก็ต้องคอยดูวิธีการเย็บประกอบตัวกระเป๋าว่าใช้วิธีไหน ส่วนไหนประกอบกับส่วนไหน มีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างไรบ้าง อาจใช้วิธีการถ่ายรูปร่วมกับจดบันทึกเพื่อให้จำได้ว่าวิธีการทำเป็นอย่างไร
3. ทดลองลงมือสร้างผลิตภัณฑ์จากวิธีที่ศึกษาจากต้นแบบมา เพื่อตรวจสอบว่าวิธีคิดที่เราเรียนรู้มานั้นถูกต้องจริงหรือไม่ สำหรับในขั้นตอนนี้ เมื่อเรารู้ขนาด ส่วนประกอบ และวิธีการประกอบกระเป๋าแล้ว เราก็ลองมาวาดแบบกระเป๋าเป็นของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกันกับต้นแบบ แต่อาศัยวิธีคิดและโครงสร้างกระเป๋าแบบเดียวกัน แล้วจึงลงมือตัดหนังหรือผ้าและประกอบส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันด้วยวิธีการต่างๆ และเมื่อเสร็จเป็นตัวกระเป๋าแล้ว ก็อาจลองใส่ของและสะพายดูว่าใช้ได้จริงหรือไม่ มีข้อติดขัดหรือปัญหาอะไรในการใช้งานหรือไม่ และปรับปรุงจนกว่าสินค้าจะใช้ได้ดีและเสร็จสมบูรณ์
4. ออกสินค้าใหม่สู่ท้องตลาด สินค้าหลังขั้นตอน reverse engineering มักจะคงคุณลักษณะใช้สอยดังเดิมของต้นแบบเอาไว้ และเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้วยการออกแบบที่แหวกแนว คุณสมบัติความสามารถที่เพิ่มเติม ในกรณีกระเป๋าก็เช่นเดียวกัน กระเป๋าแบบใหม่ที่เราทำก็จะยังคงคุณสมบัติของการเป็นกระเป๋าก็คือใช้ใส่ของได้ สะพายติดตัวไปไหนมาไหนได้ แต่รูปทรงความสวยงาม และช่องใส่ของต่างๆ ด้านในก็จะเป็นแบบของเราเอง ซึ่งสามารถออกแบบให้โดดเด่นสวยงามกว่าของคู่แข่งได้
reverse engineering ที่จริงแล้วไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด หากสำรวจชีวิตประจำวันของตัวเองดู เราอาจจะพบว่าเราทำ reverse engineering อยู่ทุกวันก็เป็นได้ อาทิวิธีการทำงานที่เราอาจเริ่มจากดูการทำงานของหัวหน้าหรือผู้ที่อยู่มาก่อนว่าเขาทำงานอย่างไร มีวิธีคิดอย่างไร เมื่อเราเชี่ยวชาญในแนวทางแรกมากพอจึงเริ่มประยุกต์ไปสู่แนวทางของตนเอง การทำ reverse engineering กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็เริ่มต้นแบบนี้ได้เช่นกัน
Credit : INCquity